แหล่งอารยธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



เอเชียตะวันออกเฉียงใต้


          เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมายถึง ดินแดนที่อยู่ระหว่างจีนและอินเดีย  ปัจจุบันได้แก่ ประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และติมอร์ตะวันออก  ดินแดนเหล่านี้ในอดีตเรียกกันหลายอย่าง เช่น เอเชีย-ดินแดนมรสุม ที่เรียกเช่นนี้เนื่องมาจากมีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุม ซึ่งมีความสำคัญต่อดินแดนบริเวณนี้   หรือ เรียกว่า อินโดจีน เพราะอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน ส่วนคำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพิ่งเริ่มใช้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรคือ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ  ได้ตั้งศูนย์บัญชาการการรบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South - East Asia Command) ขึ้นในค.ศ.1943  เมื่อทำการสงครามกับญี่ปุ่น  การเรียกชื่อเช่นนี้เพื่อความเด่นชัดทางด้านภูมิศาสตร์เพื่อกำหนดเขตการปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร โดยหมายความถึง ภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย  โดยไม่รวมถึงฟิลิปปินส์ จนในทศวรรษ 1960 จึงรวมฟิลิปปินส์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค และในค.ศ.1984 เมื่อบรูไนได้รับเอกราชก็เข้าร่วม รวมทั้งติมอร์ตะวันออกในค.ศ.2002


          ดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มีหลักฐานของมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ พบมนุษย์ชวา ในถ้ำแห่งหนึ่งบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นมนุษย์วานรในสมัยหินเก่า ที่ยังมีการเร่ร่อนอาศัยอยู่ตามถ้ำ ต่อจากนั้นมาอีกหลายพันปี เมื่อเข้าสู่ยุคหินกลาง เป็นช่วงระยะที่มีการอพยพของมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่างๆจากแผ่นดินใหญ่ลงสู่ภาคใต้ และข้ามไปยังหมู่เกาะต่างๆ ได้แก่พวก ออสเตรลอยด์ (Australoid) เนกริโก (Negreto) พวกเมลาเนซอยด์ (Malanesoid) ปัจจุบันกลายเป็นคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย และหมู่เกาะในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคหินใหม่มีการอพยพของชนกลุ่มใหญ่เป็นพวกชาติพันธุ์มองโกลอยด์มากที่สุด อพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชียโดยเฉพาะบริเวณประเทศจีนและทิเบต เข้าสู่บริเวณที่ราบลุ่มของภูมิภาคคือ ลุ่มแม่น้ำแดง แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอิระวดี แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภูเขาและที่ราบสูง เช่น ชาวเขาเผ่าต่างๆ บางพวกอพยพลงมาทางใต้เข้าสู่บริเวณคอคอดกระจนถึงแหลมมลายูและบริเวณหมู่เกาะ บ้างตั้งแหล่งอาศัยอยู่ถาวร บ้างอพยพย้อนกลับขึ้นบนพื้นแผ่นดินใหญ่อีก


          ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้ชุมชนในภูมิภาคได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบชายทะเล ผู้นำพื้นเมืองได้รวบตัวตั้งเป็นชุมชนต่าง ๆ และมีการพัฒนาการมาเป็นลำดับ สามารถปลูกข้าวเลี้ยงดูประชากร สร้างคติและความเชื่อของตน จากที่ตั้งของภูมิภาคที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง 2  อาณาจักรใหญ่ คือ จีนและอินเดีย จึงได้รับอิทธิพลเข้ามาพร้อมกับการค้าขายแลกเปลี่ยน จึงนำวัฒนธรรม ความเจริญของทั้งสองแห่งมาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม  เช่น แบบแผนการปกครองแบบอินเดีย  แนวคิดของพุทธศาสนา และ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู


          ดินแดนทางตอนล่างของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สัมพันธ์กับพ่อค้าชาวอินเดียโดยการค้า เนื่องจากพบหลักฐานทางวัตถุจากอินเดียและโรมในภูมิภาคนี้ เช่น หินหยก ลูกปัดลวดลายแบบอินเดีย ภาชนะสำริด เหรียญทองแดงของจักรพรรดิโรมัน ตะเกียงโรมันที่พงตึกและตราโรมันที่ออกแก้ว หลักฐานเหล่านี้เป็นสื่อของการแลกเปลี่ยนระหว่างการค้าทางแถบชายฝั่งจากการแล่นเรือของพ่อค้าชาวอินเดียมาทางหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ผ่านลงทางภายใต้ของประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งเลียบฝั่งทะเลอันดามันเข้าทางทิศตะวันตกของประเทศไทยสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันนั้น ก็พบหลักฐาน ของการอาณาจักรต่างๆ ในเอกสารของจีน แสดงถึงการติดต่อค้าขายกันเป็นอย่างดี


          อาณาจักรต่างๆที่พัฒนาขึ้นมา มีดินแดนกว้างขวาง( ครอบคลุมหลายประเทศในปัจจุบัน ) เช่น                                                                 

          อาณาจักรฟูนัน ครอบครอง ประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายู สถานที่ตั้งทางด้านยุทธศาสตร์ของฟูนัน ทำให้สามารถควบคุมเส้นทางช่องแคบเชื่อมฝั่งทะเลของอ่าวไทยเข้ากับทะเลอันดามันและเมืองท่าต่างๆของจีนตอนใต้ ทำให้มีความมั่งคั่งและอิทธิพลทางด้านการเมือง  ฟูนันมีอำนาจการปกครองเหนือลังกาสุกะ (Langkasuka มีเมืองหลวงอยู่ในบริเวณปัตตานีปัจจุบัน)  และเมืองตามพรลิงค์ (Tambralings มีเมืองหลวงอยู่ที่นครศรีธรรมราชหรือเมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) เมืองทั้งสองตั้งอยู่สองฝั่งเส้นทางเดินเรือค้าขายที่สำคัญ อาณาจักรฟูนันเป็นผู้วางรากฐานอารยธรรมอินเดียในอินโดจีน และเป็นรัฐที่เป็นรากฐานของประเทศกัมพูชา  เมื่อสิ้นสุดอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรที่เจริญขึ้นแทนที่ คือ อาณาจักรขอมซึ่งเจริญอยู่หลายพันปี จนสิ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรอ่อนแอลง  ทำให้ชนชาติไทยซึ่งตั้งหลักอยู่บริเวณตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  รวมกำลังตั้งเป็นรัฐอิสระจากเขมร  คือ อาณาจักรสุโขทัย และ อาณาจักรล้านนา  ต่อมาอิทธิพลขอมอ่อนลง มีการตั้งอาณาจักรอยุธยาและในค.ศ.1431 ได้ยกกองทัพไปตีนครธมโดยเจ้าสามพระยา อำนาจของเขมรที่มียาวนานกว่า 600 ปีได้สิ้นสุดลง แต่อาณาจักรเขมรยังคงอยู่โดยย้ายราชธานีไปอยู่ที่พนมเปญ เพื่อให้ห่างไกลจากราชอาณาจักรไทย  เมืองนครวัดและนครธมถูกปล่อยเป็นเมืองร้าง 

          อาณาจักรทวารวดี วัฒนธรรมทวารวดีได้แพร่กระจายจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางของประเทศไทยไปทั่วทุกภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากชุมชนโบราณที่โคกสำโรง และบ้านหมี่จังหวัดลพบุรี และเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์ซึ่งเป็นเมืองสำคัญจากลุ่มแม่น้ำป่าสักไปสู่ลุ่มแม่น้ำมูล  และลุ่มแม่น้ำชีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  รวมไปถึงตอนใต้ของพม่า   

          อาณาจักรศรีวิชัย ความสำคัญของศรีวิชัยที่ปรากฏจากจดหมายเหตุของจีนสมัยราชวงศ์ถังคือเป็นศูนย์กลางการค้าขายสินค้าข้ามสมุทรทางฝั่งทะเลตะวันตกและตะวันออก ผ่านช่องแคบมะละกา ดังนั้นจึงได้พบ ลูกปัดจากดินแดนทางตะวันตกและเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งพบเรื่อยลงมาทั้งที่เกาะสุมาตราและทางภาคใต้ของประเทศไทย (แคว้นไชยา) จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบโดยกว้างจากปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มาจนถึงคาบสมุทรมาเลย์และทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับศรีวิชัยคือ “ศรีวิชัย” ไม่ใช่ชื่ออาณาจักรที่มีศูนย์กลางของอำนาจในทางการเมืองและควบคุมเศรษฐกิจอยู่เมืองใดเมืองหนึ่งเพียงแห่งเดียว แต่ศรีวิชัยเป็นชือกว้าง ๆ ทางศิลปะ และวัฒนธรรมของบ้านเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลแถบคาบสมุทร กลุ่มบ้านเมืองหรือแว่นแคว้นต่าง ๆ เหล่านี้มีวัฒนธรรมร่วมกันคือ การนับถือพุทธศาสนามหายานและมีรูปแบบศิลปกรรมแบบศรีวิชัยเช่นเดียวกัน       
                                                                                        
          จากตัวอย่างของอาณาจักรโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของประชาชนในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมากจากรากเง้าเดียวกัน มีพื้นฐานด้านวัฒนธรรมประเพณีเดียวกันมาก่อน บางดินแดนก็คาบเกี่ยวกัน ยากที่จะบอกว่าเป็นของชนชาติใดอย่างแน่นอนตายตัว  เมื่อกาลเวลาที่เปลี่ยนไปนับพันปี ย่อมทำให้บางอาณาจักรต้องเสื่อมสลายไป และมีอาณาจักรใหม่เจริญขึ้นมาแทนที่          ดังภาพต่อไปนี้




 

    🔪สมัยล่าอาณานิคม 
          ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกชาติตะวันตกเข้ายึดครอง  ในตอนแรก ชาติตะวันต้องการผูกขาดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเครื่องเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในการถนอมอาหาร (บางประเทศต้องการเผยแผ่ศาสนา ได้แก่ฝรั่งเศส) แต่เมื่อประเทศในยุโรป ต่างแย่งชิงผลประโยชน์กันเอง ทำให้ต้องใช้กำลังทหารปกครองผลประโยชน์ของชาติตน และนำไปสู่การใช้กำลังเข้ายึดครอง หลังจากนั้นจึงใช้กำลังทหารบังคับให้ดินแดนต่างๆ ดำเนินนโยบายแบบที่ตน                                                                                
          ประเทศต่างๆที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ได้แก่ พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมของสเปน และต่อมาเป็นสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ยกเว้นเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่รอดพ้นจากการยึดครอง 

          จนเมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 จึงทยอยกันได้รับเอกราชแต่รูปแบบการเมือง การปกครองของแต่ละประเทศได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และในช่วงของการเรียกร้องเอกราชนั้น ทำให้บางประเทศต้องเผชิญกับภาวะสงครามอย่างยาวนาน  โดยเฉพาะเวียดนาม เพราะชาติมหาอำนาจ(คือสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส)ต้องการคงอิทธิพลของตนไว้ ไม่ต้องการให้จีน หรือ รัสเซียเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ 


    🔪แหล่งอารยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
          จากการที่ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยอยู่ภายใต้อาณาจักรเดียวกัน หรือคาบเกี่ยวกับมาก่อน ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากจีน-อินเดีย และได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ หรือ ศาสนาพราหมณ์  เหมือนกัน จึงทำให้ให้มีแหล่งโบราณสถานจำนวนมาก ที่มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ดังจะยกตัวอย่าง ดังนี้

          🚩มหาสถูปบุโรพุทโธ หรือ บรมพุทโธ (ภาษาอินโดนีเซีย: Chandi Borobudur) ตั้งอยู่ในภาคกลางของเกาะชวา ห่างจากยอกยาการ์ตาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 40 กิโลเมตร สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 1293 - 1393 โดยบุโรพุทโธเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ถ้าไม่นับนครวัดของกัมพูชาซึ่งเป็นทั้งศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ บุโรพุทโธจะเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ในปีพ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้บุโรพุทโธเป็นมรดกโลก






          🚩เมืองหลวงพระบาง เป็นเมืองเอกของแขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน ซึ่งไหลมาบรรจบกัน เป็นเมืองที่องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นมรดกโลกด้วย

          🚩เว้  เป็นเมืองเอกของจังหวัดถัวเทียน-เว้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเคยเป็นเมืองหลวงเก่าในสมัยราชวงศ์เหงียนช่วงปี พ.ศ. 2345-2488 มีชื่อเสียงจากโบราณสถานที่มีอยู่ทั่วเมือง จำนวนประชากรอยู่ที่ประมาณ 340,000 คน หมู่โบราณสถานในเมืองเว้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2536


          🚩เจดีย์ชเวดากอง  ตามตำนานนั้นสร้างเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่าสร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6-10 สร้างโดยชาวมอญ  พระเจดีย์ได้ถูกทิ้งร้างจนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เมื่อพระเจ้าพินยาอู ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระเจดีย์ใหม่สูง 18 เมตร พระเจดีย์ได้ถูกซ่อมแซมมาเรื่อยมา จนมามีความสูง 98 เมตรในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แผ่นดินไหวเล็กๆน้อยๆ เรื่อยมาทำให้พระเจดีย์นั้นได้รับความเสียหาย และเมื่อปี พ.ศ. 2311 (ในสมัยกรุงธนบุรี) ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก ทำให้ยอดของพระเจดีย์หักถล่มลงมา


          🚩นครวัด  ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) ในประเทศกัมพูชา สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อเป็นศาสนสถานประจำนครของพระองค์ เมื่อสมัยแรกนั้น นครวัดได้ถูกสร้างเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย แต่ต่อมาในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เปลี่ยนให้เป็นวัดในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในปัจจุบันปราสาทนครวัดนับเป็นสิ่งก่อสร้างสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา และได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองพระนคร ในปี ค.ศ. 1586 พ.ศ. 2129ได้มีนักบวชจากโปรตุเกส นามว่า อันโตนิโอ ดา มักดาเลนา เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้ไปเยือนปราสาทนครวัด แต่ที่จะถือว่าเป็นการเปิดประตูให้แก่ปราสาทนครวัดนั้น คือการค้นพบของ อองรี มูโอต์ นักสะสมแมลงและนักสำรวจชาวฝรั่งเศส เมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่แล้วมา   
                                      

          🚩อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย  ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า (เขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า) อำเภอเมืองสุโขทัย  จังหวัดสุโขทัย  ผังเมืองสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองแต่ละด้าน ภายในยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือวัดมหาธาตุ อุทยานแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากรด้วยความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก มีผู้เยี่ยมชมหลายแสนคนต่อปี ซึ่งสามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานเที่ยวชมได้ ในวันที่  12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร"







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น