แหล่งอารยธรรมเอเชียกลาง


          เอเชียกลางเป็นดินแดนที่เคยรวมอยู่กับสหภาพโซเวียตที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม  แม้ได้รับเอกราชการปกครองตนเองและหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมแล้วแต่ระบบเก่าที่ฝังรากลึกอยู่เกือบร้อยปีทำให้ความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้เป็นไปอย่างล่าช้า
               



          เอเชียกลางเป็นภูมิภาคที่เคยรวมอยู่กับดินแดนบางส่วนที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปเป็นประเทศสหภาพโซเวียตต่อมาดินแดนต่างๆของประเทศสหภาพโซเวียตทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียกลางได้ประกาศแยกออกเป็นสาธารณรัฐอิสระเพื่อปกครองตนเองทำให้ประเทศสหภาพโซเวียตต้องล่มสลายลงใน พ.ศ.2534   สาธารณรัฐในเอเชียกลางที่แยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียต มี 8 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซ เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน  มีขนาดพื้นที่รวมกันประมาณ 4.2 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 10  ของเนื้อที่ทวีปเอเชีย หรือร้อยละ 1 ของพื้นผิวโลกทั้งหมด 


          “เอเชียกลาง” ซึ่งเรามีความเข้าใจว่าเป็นอาณาบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศ 5 ประเทศ ที่แตกตัวออกมาจากอดีตสาธารณรัฐเอเชียกลางของสหภาพโซเวียตในอดีต โดยข้อเท็จจริงแล้ว ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางกว่านี้มาก คือส่วนที่มีชื่อว่าอาณาจักรเตอร์กิสถานตะวันตกซึ่งหมายถึง ดินแดนของ 5 ประเทศ แล้วยังรวมดินแดนในส่วนที่เป็นอัฟกานิสถาน เปอร์เชียและอาณาจักรเตอร์กิสถานตะวันออกหรือดินแดนส่วนที่เป็นมณฑลตะวันตกของจีนในปัจจุบันอีกด้วย


          ดินแดน “ เอเชียกลาง ” ในช่วงก่อนคริสตกาลนั้น มีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองกว่าดินแดนในยุโรปในส่วนที่เป็นอังกฤษและฝรั่งเศสปัจจุบันเสียอีก ผู้คนที่อยู่ในอาณาเตอร์กิสถานเป็นชนเผ่าเร่ร่อนชาวเติร์กและชาวตาตาร์ในปัจจุบันซึ่งชาวจีนในสมัยนั้นเรียกว่าชาวฮวนหรือพวกฮวน-นั้ง ชาวฮวนคือพวกเร่ร่อนที่ไม่สร้างอาณาจักรเป็นหลักเป็นแหล่งสำหรับตนเอง เพราะดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก ทำให้ต้องดั้นด้นไปทุกหนทุกแห่งที่สามารถให้หญ้าและน้ำแก่ม้าและแกะซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของตนได้ และเพราะการที่ไม่มีหลักแหล่ง ชาวจีนจึงเรียกพวกเร่ร่อนนี้ว่าคนป่า หรือฮวน-นั้งนั่นเอง พวกฮวนในสายตาของชาติที่อาระยะกว่าเช่นจีนเป็นชนชาติที่ไม่มีอารยธรรม แต่อันที่จริงแล้ว พวกเร่ร่อนมิใช่ชนชาติที่ไม่มีอารยธรรม แต่พวกเขามีอารยธรรมในแบบของตน เป็นพวกที่มีความชำนาญในการดำรงชีพเฉพาะตัว แม้พวกเร่ร่อนไม่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง แต่จะสร้างเมืองในทุกหนทุกแห่งที่เร่ร่อนไป เมืองที่สร้างทำหน้าที่เป็นสถานี ตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าและเป็นจุดกำเนิดของศิลปวิทยาการ ชาวฮวนในเอเชียกลางเร่ร่อนไปทั่วโดยมีอาณาเขตจรดทะเลสาบแคสเปียนทางตะวันตก ต่อสู้กับชนเผ่าตูเรเนียนและอิเรเนียนเพื่อขยายดินแดนลงไปจนจรดอาณาจักรเปอร์เซียทางทิศไต้ เข้าครอบครองที่ราบทุ่งหญ้าสเตปป์ในไซบีเรียและเข้ายึดครองมองโกเลียรวมทั้งขยายอิทธิพลเข้าไปทางตอนเหนือและตะวันตกของจีนอยู่เนืองๆ จนจีนต้องสร้างกำแพงสกัดกั้นการขยายดินแดนของพวกฮวนเร่ร่อนนี้

ชาวเติร์ก


          ชาวฮวนในเอเชียกลางมีรากเหง้ามาจากชาวซินเธียนส์ ซึ่งเป็นเชื้อชาติหนึ่งของสายอารยันและร่อนเร่ในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลจากที่ราบลุ่มแม่น้ำดานูบจนมาถึงที่ราบทุ่งหญ้าสเตปป์ในรัสเซียและเอเชียกลาง ต่อมาได้ผสมกับชาวฮวนหรือฮวน-นั้ง Yueh-Chi ที่ถูกขับมาจากดินแดนตอนเหนือของจีน(หรือมองโกเลียในปัจจุบัน)ในสมัยจักรพรรดิจี๋ ฮ่องเต้ ซึ่งอพยพมาเอเชียกลางตามเส้นทางของเทือกเขาคุนลุ้น ส่วนหนึ่งเข้ามายึดครองอาณาจักรบัคเตรียซึ่งเป็นชาวฮวนที่เข้ามาอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่สมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ามายึดครองเอเชียกลางในช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ผู้คนในเอเชียกลางจึงมีบรรพบุรุษที่มีที่มาจากการผสมผสานระหว่างชาวซินเธียนส์จากยุโรปกับพวกฮวน-นั้งจากตะวันออกซึ่งต่อมาเราเรียกพวกนี้ว่าอินโด-ซินเธียนส์หรืออินโด-อารยัน



          ในเวลาต่อมา พวกฮวน-นั้งอีกส่วนหนึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณดินแดนทางตะวันตกของจีนซึ่งเรียกว่า เตอร์กิสถานตะวันออกหรือดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลซินเกียงในปัจจุบัน ต่อมาถูกจักรพรรดิ์ หวู้-ตี่(ปีค.ศ. 140- ค.ศ. 86 ก่อนคริสตกาล) กวาดต้อนออกจากเตอร์กิสถานตะวันออกเพื่อเปิดทางให้ขบวนคาราวานของพ่อค้าชาวจีนสามารถขนสินค้าของตน โดยเฉพาะ ผ้าไหม เครื่องแล็กเกอร์และหยกไปขายยังอาร์เมเนียและกรุงโรมเพื่อแลกกับทองคำและเงินกลับจีน เส้นทางคาราวานการค้าจากจีนไปยังอาร์เมเนียและกรุงโรมที่เริ่มในช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาลคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการค้าที่เรียกว่าเส้นทางสายไหมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


🔅ฮวน-นั้ง : ชาติกำเนิดของคนเอเชียกลาง

          ดังได้กล่าวข้างต้นว่า พวกฮวนซึ่งเร่ร่อนอยู่ในเอเชียกลางมีที่มาจากการผสมผสานกับพวกฮวน-นั้งหรือมองโกล พวกฮวน-นั้งนี้เองที่ผสมผสานทางเชื้อชาติกับพวกเร่ร่อนและกึ่งเร่ร่อนชาวอารยันในบริเวณลุ่มแม่น้ำดานูบเป็นพวกพวกแมกยาร์ต้นกำเนิดของชาวฮังการีในปัจจุบัน และไม่เพียงแต่กระจายเชื้อชาติมองโกลในฮังการีแล้ว ยังถ่ายทอดอารยธรรมมองโกลให้ชุมชนเร่ร่อนในยุโรปอีกด้วย โดยเฉพาะศิลปะการขี่ม้า การใช้ม้าเป็นพาหนะและเครื่องมือแรงงานลักษณะต่างๆ ซึ่งพวกฮวนชาวมองโกลจากเอเชียกลางรู้จักมานับเป็นพันปีก่อนนี้แล้ว ยังมีพวกเร่ร่อนเชื้อชาติอลันส์ซึ่งอยู่บริเวณคอเคซัสและเป็นชาติกำเนิดของชาวอาร์เมเนียและจอร์เจียในปัจจุบัน และฮวนอีกพวกหนึ่งที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มของทะเลดำ เป็นต้นกำเนิดของชาวยูเครนในปัจจุบัน รวมทั้งพวกฟินส์หรือพวกอลันส์ทางเหนือของยุโรป ซึ่งสันนิษฐานว่าพวกเร่ร่อนอลันส์นี้ก็เป็นเชื้อชาติที่ผสมผสานระหว่างฮวน-นั้งกับพวกเร่ร่อนนอร์ดิกของยุโรป


ชาวมองโกล

          อย่างไรก็ตาม พวกฮวนในเอเชียกลางในสมัยก่อนคริสตกาลก่อนที่จะวิวัฒนาการมาเป็นชาวเติร์กและชาวตาตาร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 เรื่อยมานั้น ได้ตั้งอาณาจักรของตนขึ้นแล้วเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของพวกเร่ร่อนที่เป็นหลักเป็นแหล่งมากขึ้น และเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการเจริญเติบโตของอาณาจักรชนชาติอื่นๆที่มิใช่พวกเร่ร่อนที่ล้อมรอบเอเชียกลาง อาทิ อาณาจักรเมดีแอนของชาวกรีก อาณาจักรเปอร์เซียทางไต้ และจีนทางตะวันออกซึ่งตั้งมาตั้งแต่ 700 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรของพวกฮวนในเอเชียกลาง ไม่ว่าจะเป็นโซกดิน่า โฆเรซึม หรือซาคา ล้วนอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรชนชาติต่างๆที่อยู่ล้อมรอบเอเชียกลางด้วยกันทั้งสิ้น จวบจนกระทั่งถึงระยะศตวรรษท้ายๆก่อนคริสตกาล พวกฮวนในเอเชียกลางซึ่งผสมผสานทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์กับฮวน-นั้งหรือมองโกลที่ถูกขับมาจากตอนเหนือของจีนได้ใช้กำลังเข้ายึดอาณาจักรบัคเตรียของชาวกรีกสำเร็จ จึงได้ตั้งอาณาจักรที่เป็นอิสระของตนซึ่งปกครองโดยราชวงศ์ต่างๆ และแผ่ขยายอาณาเขตของตนไปยังทิศทางต่างๆตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป การบุกเข้าไปในเปอร์เซีย อัฟกานิสถานและอินเดียของพวกฮวน-นั้งภายใต้อาณาจักรคูชานในศตวรรษที่ 2 การบุกเข้าไปในทุ่งหญ้าสเตปป์ในอาณาจักรเตอร์กิสถานตะวันออก(แคว้นซินเกียงของจีนในปัจจุบัน)ของพวกเร่ร่อนเอฟาลิติสที่ชาวจีนเรียกว่าพวกฮวนขาวในศตวรรษที่ 5 และบุกเข้าอินเดียอีกครั้งของพวกฮวนขาวนี้เองที่ได้ทำลายล้างเชื้อชาติกรีกในอินเดียตอนเหนือจนหมดสิ้น ชาวอินเดียตอนเหนือสุดจนถึงเมืองพาราณสีในปัจจุบันจึงสืบเชื้อสายมาจากพวกอินโด-อารยันที่พวกฮวน-นั้งบุกเข้ามาครั้งแรกในศตวรรษที่ 2 และจากพวกฮวนขาวในศตวรรษที่ 5 แต่พวกเร่ร่อนเอฟาลิติสหรือฮวนขาวมิใช่ต้นตระกูลของชาวเอเชียกลางซึ่งสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน หากแต่เป็นพวกฮวน-นั้งที่กระจัดกระจายในที่ราบลุ่มแม่น้ำของเอเชียกลางซึ่งร่วมมือกับอาณาจักรเปอร์เซียบุกเข้าตีอาณาจักรของพวกเร่ร่อนเอฟาลิติสเป็นผลสำเร็จในศตวรรษที่ 6 พวกฮวน-นั้งในเอเชียกลางนี้ได้วิวัฒนาการมาเป็นชนชาวตระกูลเติร์กและตั้งอาณาจักรเตอร์กิสถานที่เป็นอิสระของชนชาติตระกูลเติร์กเป็นครั้งแรกในเอเชียกลาง

🔅ยุโรปและรัสเซียในอุ้งมือของอาณาจักรมองโกล


          ชาวเติร์กในเอเชียกลางในระยะก่อนการเข้ามาของกองทัพมองโกลในศตวรรษที่ 13 เป็นต้นไป ถูกปกครองภายใต้อาณาจักรคีวาซึ่งมีอาณาเขตปกคลุมภูมิภาคเอเชียกลางในปัจจุบัน รวมกับดินแดนในภูมิภาคเทือกเขาคอเคซัสตอนไต้ทั้งหมด อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดียจนถึงแม่น้ำคงคา เตอร์กิสถานตะวันออก(แคว้นซินเกียง)และที่ราบทุ่งหญ้าสเตปป์ตอนไต้ของรัสเซีย เอเชียกลางถูกล้อมรอบด้วยอาณาจักรของพวกมุสลิมอาณาจักรต่างๆ ได้แก่ อียิปต์ซึ่งรวมปาเลสไตน์และซีเรียอยู่ด้วย อาณาจักรเซลิยุกในตุรกีในปัจจุบัน อาหรับคาลิฟัตในอิรัก และจีนในยุคของราชวงศ์ถังที่เสื่อมโทรมหรือที่เรียกว่า “ยุค 10 อาณาจักร” ความเสื่อมโทรมของจีนในยุคราชวงศ์ถังนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่เชื้อเชิญให้อาณาจักรของพวกฮวนในมองโกเลียซึ่งมีศูนย์กลางอยู่บริเวณทะเลสาบไบคาลกล้าทำสงครามด้วย เข้ายึดครองในเวลาต่อมาและขยายอาณาจักรต่อไปอีกทางทิศตะวันตกจนถึงลุ่มแม่น้ำดานูบในที่สุดโดยมีเอเชียกลางถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งด้วย


          พวกฮวนในมองโกเลียหรือที่เรียกในเวลาต่อมาว่าชาวมองโกลในศตวรรษที่ 12 นั้น ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรคิน ซึ่งเป็นอาณาจักรอิสระของชาวจีนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและอยู่ทางตอนบนของอาณาจักรซ่ง พวกเร่ร่อนที่ปราศจากทุ่งหญ้าคือปลาที่ขาดน้ำ และจึงเป็นความจำเป็นที่พวกเร่ร่อนชาวมองโกลต้องหาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ทางดินแดนทางไต้ซึ่งหิมะละลายเร็วกว่านั้น ทำให้ชาวมองโกลต้องทำการสู้รบกับชาวจีนที่ปกครองภายใต้อาณาจักรคินอยู่เนืองๆ การสู้รบกับชาวจีนซึ่งเป็นชาติที่มีอารยะธรรมเจริญกว่าชาติใดในโลก ทำให้พวกเร่ร่อนชาวมองโกลได้เรียนรู้ศิลปะการสู้รบและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆของชาวจีนอาทิ การใช้ดินปืน การใช้พลุให้สัญญาณ และการใช้เข็มทิศนำมาประยุกต์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำสงคราม และเมื่อนำมาผสมผสานกับความชำนาญในการใช้ม้าเป็นพาหนะซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวของชาวมองโกลแล้ว กองทัพชาวมองโกลก็พร้อมที่จะเข้าโจมตีและยึดครองดินแดนที่ใดก็ได้ในโลก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าสิ่งประดิษฐ์ของคนจีนต่างๆข้างต้นที่กองทัพมองโกลนำมาใช้ในการทำสงคราม โดยเฉพาะ การใช้ดินปืนนั้น ยังไม่มีฝรั่งตะวันตกชาติใหนในช่วงศตวรรษที่ 12 รู้จักมาก่อนจนกระทั่งได้เห็นกับตาของตนเองเมื่อกองทัพมองโกลได้ใช้มันเข้าโจมตีบ้านเมืองของตนแล้วเท่านั้น


          พวกเร่ร่อนชาวมองโกลในสมัยเจงกีสข่านปรารถนาที่จะได้ทุ่งหญ้าสเตปป์ตลอดแนวจากตอนไต้ของไซบีเรียไปจนถึงลุ่มแม่น้ำดานูบที่อุดมสมบูรณ์กว่าและมีฤดูร้อนที่ยาวกว่าเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของตน เจงกีสข่านจึงบุกไปตะวันตกหลอมรวมกองทัพของตนเข้ากับพวกเร่ร่อนชาวตาตาร์ทางตอนใต้ของไซบีเรียและตาตาร์ในเตอร์กิสถานตะวันออก เป็นกองทัพเดียวกัน พร้อมกันนั้น ก็ได้ยกกำลังเข้าตีอาณาจักรคินและยึดปักกิ่งได้สำเร็จในปีค.ศ. 1214



 เจงกีสข่าน

          ในขณะที่การสู้รบกับอาณาจักรคินของชาวจีนทางเหนือเป็นศึกสงครามที่ทรหดและยืดเยื้อ เจงกีสข่าน วิตกกังวลถึงความเข้มแข็งของอาณาจักรคีวาซึ่งเป็นอาณาจักรทางตะวันตกที่มีพลานุภาพที่สุดและด้วยความเป็นอาณาจักรมุสลิมที่ชาวมองโกลรังเกียจมากที่สุด อาณาจักรคีวาสามารถเป็นภัยต่อชาวมองโกลได้ในสายตาของเจงกีสข่าน เจงกีสข่านจึงได้ส่งราชทูตไปยังเมืองซามาร์คานด์เพื่อเจริญไมตรีด้วยแต่เอกสารบางแห่งยืนยันว่าเพื่อสืบความลับของอาณาจักรคีวา และหากเจ้าผู้ครองรัฐคีวาภายใต้ราชวงศ์คาริสเมียนจะยอมรับการเจริญไมตรีของเจงกีสข่าน หรือไม่สังหารราชทูตด้วยการตัดคอแล้วส่งกลับไปยังราชสำนักของเจงกีส ข่านที่คาราโครัมแล้ว ประวัติศาสตร์โลกก็จะไม่บันทึกถึงเหตุการณ์ในปีค.ศ. 1218 ที่กองทัพมองโกลกว่า 6หมื่นคนบุกเข้ามายังเอเชียกลางและกวาดล้างอารยธรรมมุสลิมตั้งแต่ปามีร์ คาชการ์ ละฮอร์โคคานด์ บุคาราและซามาร์คานด์จนเกือบจะราบคาบและอย่างไร้ความปราณีเช่นนี้กองทัพของเจงกีส ข่านบุกตะลุยเอเชียกลางทั้งภูมิภาคจนไปประชิดตอนเหนือของทะเลสาบแคสเปียน ณ บริเวณที่เป็นเมืองอาสตราคานด์ของรัสเซียในปัจจุบันและที่จุดนี้ที่กองทัพมองโกลปะทะกับกองทัพของนครรัฐรัสเซียเป็นครั้งแรกและการสู้รบดำเนินไประหว่างปีค.ศ. 1235-1240 จนกระทั่งกรุงเคียฟ เมืองศูนย์กลางของนครรัฐรัสเซียถูกบดขยี้ในปีค.ศ. 1240 และเป็นการเปิดทางให้กองทัพของมองโกลในสมัยของอ๊อกได ข่านลูกชายของเจงกีส ข่าน เข้ายึดรัสเซียได้ทั้งหมดและบังคับให้เป็นประเทศราชของมองโกลอย่างสมบูรณ์ กองทัพของชาวมองโกลในสมัยของอ๊อกได ข่านได้ขยายอาณาจักรของตนที่เริ่มต้นจากฝั่งแปซิฟิกจนจรดแม่น้ำดนีเปอร์ภายในระยะเวลา 28 ปี คือนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1214 ปีที่กองทัพมองโกลเข้ายึดกรุงปักกิ่งสำเร็จจนถึงปีค.ศ. 1240 ซึ่งเป็นปีที่กรุงเคียฟของรัสเซียถูกบดขยี้ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการเข้ายึดครองโปแลนด์ เยอรมันและฮังการีในอีกเพียง 1 ปีถัดมา



          เจงกีส ข่านเสียชีวิตในปีค.ศ. 1227 อาณาจักรมองโกลถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนให้แก่ลูกและหลานของเจงกีส ข่านปกครอง โดยประเพณีแล้ว ลูกคนที่โตที่สุด จะได้รับอำนาจให้ปกครองส่วนของอาณาจักรส่วนที่ไกลที่สุด ดอร์จิ(Dorchi) ลูกชายคนโตจึงปกครองส่วนของอาณาจักรมองโกลด้านยุโรปทั้งหมดจนมาถึงรัสเซีย ยูเครนและตอนเหนือของคาซัคสถานในปัจจุบัน กองทัพมองโกลของของโจจิส่วนที่ตั้งหลักแหล่งในฮังการี ได้สังหารชาวแมกยาร์ซึ่งเป็นพวกฮวนเร่ร่อนบรรพบุรุษของตนเมื่อหนึ่งพันปีก่อนและบางส่วนที่ตั้งหลักแหล่งบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำดนีเปอร์ในยูเครน ผสมผสานกับคนพื้นเมืองทำให้ฝรั่งชาวยูเครนมีหน้าตาละม้ายไปทางเอเชียในเวลาต่อมา เป็นเหตุผลที่อธิบายในเวลาต่อมาว่าชาวยูเครนคือชาวซินเธียนส์ผสมมองโกลหรือที่เราเรียกกันติดปากว่ายูเครนคือชาวสลาฟหน้าจีน อาณาจักรของชาวมองโกลส่วนนี้ที่ต่อมาเรียกว่า Golden Horde ชางคาไต(Changkatai) ลูกชายคนที่ 2 ของเจงกีสข่าน ปกครองในส่วนที่เป็นเอเชียกลางทั้งหมด และรวมไปถึงอัฟกานิสถานและดินแดนทางตะวันตกสุดของจีนในปัจจุบัน อ๊อกได ข่าน ลุกชายคนสุดท้องปกครองในส่วนที่เป็นอาณาจักรมองโกลชั้นในสุด หากมิใช่เพราะอ๊อกได ข่านเสียชีวิตในปีถัดมา(ค.ศ. 1242) แล้ว ชาวมองโกลก็คงไม่ยกทัพกลับไปยังเมืองคาราโครัมถิ่นกำเนิดของตนอย่างแน่นอนซึ่งถือเป็นความโชคดีของชาวยุโรปที่เหลือทั้งหมด แต่กลับเป็นเคราะห์กรรมของชาวจีนและเอเชียที่เหลือ เมื่อมังกู ข่าน กษัตริย์มองโกลซึ่งสืบเชื้อสายจากเจงกีส ข่าน ขึ้นปกครองมองโกเลียและแต่งตั้งกุบไล ข่านน้องชายให้เป็นผู้สำเร็จราชการในจีนในปีค.ศ. 1251 กุบไล ข่านเป็นกษัตริย์ปกครองมองโกลและจีนอย่างสมบูรณ์ในปีค.ศ. 1260 พร้อมกับการตั้งราชวงศ์หยวน ของชาวมองโกลปกครองจีนและย้ายเมืองหลวงจากคาราโครัมมาอยู่ที่กรุงปักกิ่ง อาณาจักรมองโกลที่มีศูนย์กลางที่ปักกิ่งมีอาณาจักรของตนไกลสุดตั้งแต่ฮังการี ครอบคลุมรัสเซีย(ยูเครน) และเอเชียกลาง เอเชียเกือบทั้งทวีป จนจรดมหาสมุทรแปซิฟิก รุ่งเรืองสุดขีดจนถึงปีค.ศ. 1268 ประกอบด้วยประเทศราชของมองโกลในซีเรีย อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของชาวมองโกล-ตาตาร์ในรัสเซียและในเตอร์กิสถาน(เอเชียกลาง) ยกเว้นก็เพียงแต่ ความพ่ายแพ้ของกองทัพมองโกลต่อกองทัพสุลต่านของอิยิปต์ซึ่งหยุดยั้งความทะเยอทยานของชาวมองโกลที่จะบุกตลุยเข้าไปปกครองในทวีปแอฟริกาในปีค.ศ. 1260 และการที่กองทัพมองโกลเข้าตีแคว้นปันจาบของอินเดียไม่ได้ รวมทั้งความไม่สามารถบุกไปตีเกาะญี่ปุ่นได้ แม้มีความพยายามถึง 2 ครั้ง ชี้ถึงการเสื่อมสลายของอาณาจักรมองโกลที่ยิ่งใหญ่ตลอด 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ราชวงศ์หยวนถูกโค่นล้มโดยชาวจีนชาตินิยมในปีค.ศ. 1368 พร้อมกับการตั้งราชวงศ์หมิงขึ้นปกครองจีนจนถึงปีค.ศ. 1644 ซึ่งต่อมาถูกชาวแมนจูซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกฮวน-นั้งและชาวมองโกลเชื้อสายเดียวกับเจงกีส ข่านก็เข้ามาโค่นล้มการปกครองของราชวงศ์หมิงและสถาปนาการปกครองของราชวงศ์แมนจูในจีนจนถึงปีค.ศ. 1911 เมื่อจีนประสบการปฏิวัติกระฎุมพีที่นำโดยปัญญาชนชาตินิยมดร.ซุน ยัต เซ็น

          ข้อสังเกตในเวลาต่อมาว่ากองทัพมองโกลจะต้องรู้จักการทำแผนยุทธศาสตร์การสู้รบแล้ว ถึงสามารถบัญชาการรบในสมรภูมิที่กว้างใหญ่ไพศาลจากแม่น้ำวิสตูลาถึงทรานซิลวาเนียได้อย่างมีเอกภาพซึ่งฝรั่งในยุโรปกว่าจะรู้จักการทำแผนรบระดับยุทธศาสตร์ก็ในสมัยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตหรืออีก 6 ศตวรรษต่อมา และเป็นเหตุผลอธิบายว่า ทำไมกองทัพมองโกลจึงไม่บุกยุโรปต่อไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ก็เพราะจากไซลีเซียต่อไปนั้นคือเขตเทือกเขาและป่าทึบซึ่งเป็นสมรภูมิที่ชาวมองโกลไม่ชำนาญการรบนั่นเอง

🔅นักรบเร่ร่อนคอซแซคส์ : ประกายไฟไหม้ลามทุ่ง





          ในรัสเซียและในเตอร์กิสถาน ซึ่งถูกผนวกเข้าอยู่ในระบบการปกครองของอาณาจักรมองโกลด้วยนั้น เป็นอาณาจักรคิปแช็ค(Kipchak) ซึ่งเป็นระบบการปกครองของชาวมองโกล-ตาตาร์ที่เจงกีส ข่านยกให้ดอร์จิ ลูกชายคนโตของเจงกีส ข่านปกครอง เมืองศูนย์กลางของอาณาจักรคิปแช็คอยู่ที่เมืองคาซาน (Kazan) กษัตริย์ของอาณาจักรคิปแช็คเป็นข่านซึ่งเรียกว่าข่านแห่ง Golden Horde รับส่วยและเครื่องบรรณาการจากบรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐหรืออุปราชตาตาร์(Tatar) ในมอสโก เคียฟ(Kiev) นอฟกอร็อด(Novgorod) และอาสตราคานด์(Astrakhand) ที่ถวายให้ในฐานะประเทศราชที่อยู่ไต้อำนาจการปกครอง อาณาจักรคิปแช็กเสื่อมสลายช้ากว่าการเสื่อมสลายของอาณาจักรมองโกลที่ปักกิ่ง คือหลังจากที่ราชวงศ์หยวนถูกโค่นล้มลงไปแล้วเกือบหนึ่งศตวรรษ ปัจจัยสำคัญที่แสดงบทบาททำลายความแข็งแกร่งของอาณาจักรคิปแช็ก มิใช่อยู่ที่การลุกขึ้นต่อต้านของชาวรัสเซีย หากอยู่ที่การต้องทำสงครามกับพวกเร่ร่อนพวกหนึ่งที่มีหลักแหล่งอยู่บริเวณตะวันออกของยูเครนและทางไต้ของรัสเซีย พวกเร่ร่อนพวกนี้เป็นชาวยูเครนและสืบเชื้อสายมาจากประชากรที่ผสมผสานระหว่างสลาฟกับมองโกล พวกเร่ร่อนพวกนี้เป็นชาวคริสต์ บูชาเสรีภาพและรักการผจญภัย มีความสามารถในการใช้ม้าทำการสู้รบไม่แพ้บรรพชนของตนซึ่งเป็นชาวมองโกลเมื่อหนึ่งพันปีก่อน และด้วยความรักในเสรีภาพ พวกเร่ร่อนชาวคริสต์พวกนี้จึงเป็นกลุ่มแรกที่ปฏิเสธการถวายเครื่องราชบรรณาการและส่วยให้แก่ข่านของอาณาจักรคิปแช็ก และดังนั้นจึงทำสงครามต่อต้านระบบการปกครองมองโกล-ตาตาร์ของอาณาจักรคิปแช็กตลอดเวลาเกือบหนึ่งร้อยปีในช่วงศตวรรษที่ 14 และ 15 อาณาจักรคิปแช็กอ่อนกำลังลงเพราะสาเหตุนี้ พวกเร่ร่อนชาวคริสต์ที่เป็นสาเหตุการเสื่อมสลายของระบบปกครองมองโกล-ตาตาร์นี้ เรารู้จักกันดีในนามว่าพวกทหารคอซแซ็คส์(Cossacks)


"Cossacks writing letter to Turkish Sultan" (1880-1891) Iliya Repin



ทหารคอซแซ็คส์

          การอ่อนกำลังลงของระบบปกครองมองโกล-ตาตาร์ทำให้เจ้าผู้ครองนครใหญ่น้อยของรัสเซียซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20 นครรัฐ กล้าที่จะแข็งเมืองกับข่านมองโกล-ตาตาร์ที่ละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดนครรัฐมอสโกซึ่งมีเจ้าชายอิวานที่ 3 (Ivan III) เป็นอุปราชได้ก่อการกบฏประกาศอิสรภาพต่ออาณาจักรคิปแช็กและยุติการส่งส่วยและบรรณาการต่อข่านมองโกล-ตาตาร์ตั้งแต่ปีค.ศ. 1480 ซึ่งถือเป็นปีที่รัสเซียประกาศอิสรภาพจากแอกของมองโกล-ตาตาร์ พร้อมกันนั้น ได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองเมืองนอฟกอร็อด ศูนย์กลางนครรัฐและการค้าของแคว้นทางฝั่งทะเลบอลติก ประกาศความเป็นจักรวรรดิรัสเซียพร้อมกับประกาศให้มอสโกเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรโรมันที่ 3 ต่อจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ที่ถูกทำลายล้างลงโดยพวกอนารยะชนจากอาหรับในปีค.ศ. 1476 พร้อมกันนั้น ก็ได้นำสัญลักษณ์พญาอินทรีย์สองเศียรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรไบแซนไทน์ (Bizantine) มาเป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิ์รัสเซียตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และนำตำแหน่งซาร์ (Tzar)ซึ่งเป็นภาษาสลาฟจากคำว่าซีซาร์ในภาษาโรมัน มาใช้เรียกกษัตริย์ของจักรวรรดิ์รัสเซียตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าอิวานที่ 4 หรืออิวานผู้โหดเหี้ยม จนถึงซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายของรัสเซีย แม้พระเจ้าอิวานที่ 4 จะมีตำแหน่งเป็นพระเจ้าซาร์หรือซีซาร์ของอาณาจักรโรมัน แต่พฤติกรรมเป็นตาตาร์มากกว่าชาวยุโรป ปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยระบอบอัตตาธิปไตยที่ใช้อำนาจอย่างไม่จำกัดตามวิถีการปกครองแบบเอเชีย(Eastern Depotism) และรับคำสอนของคริสต์ศาสนาในแบบออร์ธอดอกซ์ที่เผยแพร่เข้ามาในรัสเซียผ่านเข้ามาทางคอนสแตนติโนเปิลจากหมอสอนศาสนาชาวบัลแกเรียตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ร่วมสามร้อยปีก่อนที่มองโกลจะเข้ามาปกครอง

🔅มองโกลกับราชวงศ์โมกุล(Mogul)ในอินเดีย

          ในเตอร์กิสถาน การล่มสลายของอาณาจักรคิปแช็คมาพร้อมกับการปรากฏตัวของอามีร์ ติมูร์(Amir Timur) หรือติมูร์เลน ผู้นำพวกเร่ร่อนในเอเชียกลางดินแดนในส่วนที่เป็นของอุซเบกิสถานในปัจจุบัน ติมูร์เป็นพวกเร่ร่อนชาวเติร์กและด้วยถือตนว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเจงกิส ข่าน ทางสายของฝ่ายแม่ ติมูร์หวังที่จะฟื้นฟูอำนาจของอาณาจักรมองโกลให้กลับรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นผู้นำพวกเร่ร่อนจากเมืองซามาร์คานด์ (Zamarkhand) ใช้กำลังเข้าล้มระบบการปกครองของอาณาจักรคิปแช็คที่อ่อนแอ เหมือนที่อิวานที่ 3 ได้ทำมาแล้วในรัสเซีย และขยายอำนาจของตนไปทั่วอาณาจักรเตอร์กิสถาน ไปยังไซบีเรีย ใช้ความเหี้ยมโหดเข้ายึดอินเดียจนถึงแคว้นปันจาบซึ่งเป็นดินแดนที่บรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่าของเขาไม่เคยทำสำเร็จมาก่อน เข้ายึดซีเรียและทำให้อียิปต์เป็นเมืองขึ้น ก่อนที่ติมูร์เลนจะขยายอาณาจักรไปกว้างกว่านี้ โดยเฉพาะการเข้าไปปกครองอินเดีย ติมูร์เลนได้เสียชีวิตลงเสียก่อนในปีค.ศ. 1405

อามีร์ ติมูร์

          ในยุคสมัยของติมูร์เลน ติมูร์เลนปกครองอาณาจักรของตนด้วยความเหี้ยมโหด ปล้นสะดมจากพ่อค้าตามเส้นทางสายไหมและนำทรัพย์สมบัติที่ปล้นมาได้มาสร้างความรุ่งเรืองอลังการ์ให้กับเมืองซามาร์คานด์ สถาปัตยกรรมในเมืองซามาร์คานด์ที่ปรากฏตัวอยู่จนถึงทุกวันนี้ล้วนถูกสร้างขึ้นในสมัยของติมูร์เลนเกือบทั้งสิ้น ชื่อเสียงของติมูร์เลนในฐานะนักรบผู้ยิ่งใหญ่เขื่องพอๆกับความเป็นทรราชย์ของเขาซึ่งกล่าวขานกันว่า ติมูร์คือผู้ซึ่งใช้กะโหลกศีรษะของทหารศัตรูทั้งกองทัพ กองแล้วกองเล่า แล้วซีเมนต์เข้ากับโคลนและปูนก่อนที่จะนำไปปั้นเป็นปราสาท หอคอยและกำแพงเมือง

          ซามาร์คานด์ในสมัยของติมูร์เลนยิ่งใหญ่ไม่แพ้ไคโรและโรมทางด้านการทหาร และไม่แพ้กรุงคอนสแตนติโนเปิลและกรุงปักกิ่งในด้านวิทยาการในสมัยของอูลูกเบ็ก(Ulughbek) หลานของติมูร์และปัญญาชนที่ปกครองซามาร์คานด์ระหว่างปีค.ศ. 1409-1449 ซามาร์คานด์กลายเป็นศูนย์กลางวิทยาศาสตร์ของโลกในสมัยกลาง เป็นแหล่งชุมนุมของนักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชั้นนำของโลก อุซเบกิสถานจึงได้ชื่อในเวลาต่อมาว่าเป็นชาติแรกที่ประดิษฐ์ Sectant ซึ่งเป็นเครื่องมือทางดาราศาสตร์ในการคำนวณการเดินทางของดวงดาวและเป็นฐานคิดให้โคเปอร์นิคัสในการวางรากฐานวิชาดาราศาสตร์



Sectant

ในเวลาต่อมา
          เอเชียกลางคือแหล่งอารยธรรมของโลกแม้ก่อนหน้าที่อูลุกเบ็กจะขึ้นมาปกครอง ใครจะทราบบ้างว่าวิชาอัลจีบร้า (Algebra) ที่เป็นแขนงหนึ่งของคณิตศาสตร์สมัยใหม่ คิดค้นโดยนักคณิตศาสตร์ชาว ซามานิด(Samanid) ในเอเชียกลางช่วงศตวรรษที่ 9 ชื่ออัล-เจเบอร์(Al-jebr) คำว่า Algebra แผลงมาจากชื่อ Al-jebr ไม่เพียงแต่เท่านั้น วิชาเลขแขนงหนึ่งที่เรารู้จักกันว่าอัลกอริธึ่ม(Algorithm) คิดค้นโดยนักคณิตศาสตร์เอเชียกลางชื่อ อัล-โคริซึม(Al-Khorezmi) ซึ่งมีชีวิตระหว่างปีค.ศ. 787-850 คำว่า Algorithm แผลงมาจากชื่อ Al-Khorezm

อัล-โคริซึม

          ในปีค.ศ. 1505 บาเบอร์ (Baber) ผู้นำเผ่าเร่ร่อนชาวเติร์กและผู้สืบเชื้อสายมาจากอามีร์ ติมูร์ ซึ่งก็คือผู้สืบเชื้อสายมาจากเจงกีส ข่าน รวบรวมไพร่พลข้ามเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) เข้ายึดอัฟกานิสถานได้สำเร็จและตั้งตนเป็นผู้ปกครองอัฟกานิสถานและนำกำลังพลผ่านช่องเขาไคเบอร์เข้าตีแคว้นปันจาบ(Punjab) ของอินเดีย จุดหมายแรกในการยึดครองอินเดียหลังจากที่บรรพชนของตน (อามีร์ ติมูร์)ได้ทำมาแล้วเมื่อศตวรรษก่อน บาเบอร์เข้ายึดนครเดลีสำเร็จในปี ค.ศ. 1525 และตั้งตนเป็นจักรพรรดิ์แห่งฮินดูสถาน (Hindustan)มีอาณาจักรจนไปสุดดินแดนเบงกอล (Bengal) ภายหลังการเสียชีวิตของบาเบอร์ในปีค.ศ. 1530 อินเดียถูกปกครองโดยลูกหลานของบาเบอร์(ค.ศ. 1526-2530) ที่สืบทอดอำนาจจากพ่อถึงลูกต่อไปอีก 5 รัชสมัย ฮูมายุน (Humayun ค.ศ. 1530-1556) อัคบาร์ (Akbar ค.ศ.1556-1605) เจฮังกีร์ (Jehungir ค.ศ. 1605-1628) ชาห์ เจฮาน (Shah Jehan ค.ศ. 1628-1658) และโอรุงเซบ(Aurungzeb ค.ศ. 1658-1707) โดยเฉพาะ ในรัชสมัยของ อัคบาร์ กษัตริย์รุ่นที่ 3 และหลานของบาเบอร์ สร้างความเจริญให้อินเดียอย่างสูงสุด ทัช มาฮาลคือยอดปิรามิดของอารยธรรมอุซเบ็กในอินเดีย นอกจากพระเจ้าอโศก มหาราชแล้ว อัคบาร์คือมหาราชของอินเดียอีกพระองค์หนึ่งที่ได้รับยกย่องสูงสุดให้เป็นรัฐบุรุษของอินเดีย กษัตริย์ 6 รัชสมัยที่ปกครองอินเดียเป็นเวลาถึง 114 ปีนั้นคือกษัตริย์ภายใต้ราชวงศ์โมกุล อันยิ่งใหญ่ซึ่งผลักดันให้ภารกิจการฟื้นฟูอาณาจักรมองโกลในอินเดียสำเร็จลงได้ตามอุดมการณ์และความฝันของอามีร์ ตีมูร์โดยสมบูรณ์แบบ



อัคบาร์

          ดังที่ได้กล่าวแล้วถึงบทบาทของพวกเร่ร่อนชาวคริสต์ที่มีหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณแนวทุ่งหญ้าสเตปป์ทางตอนใต้ของรัสเซียและตะวันออกของยูเครนและที่เรียกว่าคอซแซ็ค ในการบั่นทอนอำนาจของอาณาจักร Golden Horde ของมองโกล-ตาตาร์และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นครรัฐมอสโกภายใต้การนำของเจ้าชายอิวานที่ 3 ประกาศเอกราชจากการเป็นประเทศราชของอาณาจักรมองโกลได้สำเร็จ คอซแซ็คมิใช่เชื้อชาติ แม้จะมีรากเหง้ามาจากซินเธียนส์และฮวน-นั้งเมื่อ 1500 ปีก่อน แต่เป็นการรวมตัวของพวกเร่ร่อนหลายเผ่าพันธุ์และเชื้อชาติศาสนา คือพวกที่ไม่ชอบอยู่ภายไต้การปกครองของใครซึ่งย่อมต้องรวมไปถึงทาสและไพร่ที่หลบหนีจากการจองจำของเจ้าที่ดินศักดินาในยุโรป อาชญากรทั้งที่ประพฤติผิดโดยเจตนาและที่ถูกบังคับให้เป็นโจร แม้กระทั่งพวกเร่ร่อนชาวตาตาร์ที่หลบหนีออกจากการปกครองของอาณาจักรตนเอง(มองโกล-ตาตาร์) ชนเผ่าคอซแซคส์ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นผู้นำของคอซแซคส์ทั้งมวล คือคอซแซคส์ยูเครนจากลุ่มแม่น้ำดนีเปอร์และคอซแซคส์รัสเซียจากลุ่มแม่น้ำดอน และด้วยผลประโยชน์ที่สอดคล้องกันระหว่างพวกคอซแซคส์ที่ต้องการแสวงหาดินแดนใหม่ที่ไม่มีใครจับจองและเป็นเจ้าของมาก่อนกับผลประโยชน์ของจักรวรรดิรัสเซียที่ต้องการขยายอาณาจักรออกไปในทุกทิศทุกทางโดยเฉพาะ ทางตะวันออกซึ่งไม่มีศัตรูที่แข็งแกร่งเป็นอุปสรรค เหมือนเช่น ทางตะวันตกที่มีอาณาจักออโตมานขัดขวาง หรือทางไต้ที่การขยายอำนาจทางเรือของอังกฤษและฝรั่งเศสขัดขวาง พวกคอซแซคส์จึงได้กลายเป็นทัพหน้าและอาวุธอันทรงพลังของจักรวรรดิรัสเซียในการบุกเข้าตีอาณาจักรของชาวมองโกล-ตาตาร์ที่กระจัดกระจายตามเส้นทางการบุกเบิกดินแดนใหม่ทางตะวันออก เริ่มจากเตอร์กิสถานในเอเชียกลาง ขึ้นไปในไซบีเรียและสิ้นสุดที่แม่น้ำอามูร์ทางทิศตะวันออกไกล ความอ่อนล้าลงของอาณาจักรมองโกลในเอเชียกลางในช่วง 2 ถึง 3 ศตวรรษหลังเจงกีส ข่าน และตีมูร์เลนหมดอำนาจลงไปนั้น เป็นสิ่งที่อธิบายได้ไม่ง่ายนัก การเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศในช่วงศตวรรษที่ 15-18 ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของเอเชียกลางที่มาพร้อมกับดินดำและทุ่งหญ้าสเตปป์หายไปพร้อมกับสัดส่วนของพื้นที่ทะเลทรายที่มากขึ้น อาจเป็นสาเหตุสำคัญ แต่การฟื้นฟูศิลปวิทยาการของยุโรปภายหลังยุคกลาง โดยเฉพาะการค้นพบวิชาคณิตศาสตร์สมัยใหม่ วิชาฟิสิคส์และวิชาดาราศาสตร์ ทำให้การเดินเรือระหว่างมหาสมุทรเป็นเรื่องไม่ยากอีกต่อไปสำหรับชาวยุโรป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นไป ยุคของการล่าอาณานิคมของพวกมองโกล-ตาตาร์และของชาวเติร์กจบสิ้นลงแล้ว และนับจากนี้ไปดินแดนของพวกเขาทางตะวันออกตั้งแต่เทือกเขายูราล เอเชียกลางทั้งภูมิภาค ไซบีเรีย จนถึงดินแดนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก รวมไปถึงมองโกเลียบ้านเกิดเมืองนอนของผู้รุกรานเองด้วย กำลังถูกรุกราน ถูกเข้ายึดครองโดยชาวรัสเซียซึ่งเริ่มต้นในสมัยพระเจ้าอิวานในศตวรรษที่ 16 จนจบลงที่รัสเซียในสมัยสหภาพโซเวียตในศตวรรษที่ 20

พระเจ้าอิวาน

🔅เมื่อผู้รุกรานถูกรุกราน




          พระเจ้าอิวานที่ 4 หรืออิวานผู้เศร้าสร้อย (ในภาษารัสเซีย) คือผู้นำชาวรัสเซียคนแรกที่รวบรวมนครรัฐของชาวรัสเซียที่กระจัดกระจายกว่า 20 นครรัฐให้เป็นปึกแผ่นหรือที่เรียกว่าจักรวรรดิในเวลาต่อมา การขยายดินแดนของรัสเซียมีปรัชญาเบื้องหลังอยู่เพียงประการเดียวคือการแสวงหาทางออกทะเลและเป็นปรัชญาที่ขับเคลื่อนนโยบายภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียตั้งแต่ในอดีตจนถึงสมัยปัจจุบันนี้ ดังนั้น พระเจ้าอิวานเริ่มต้นทำสงครามกับนครรัฐของสวีเดนและโปแลนด์ก่อนเพื่อยึดเมืองนอฟกอร็อด(Novgorod) ซึ่งเป็นเส้นทางออกทางทะเลที่ทะเลบอลติก(Baltic) จากนั้นทำสงครามกับบรรดานครรัฐของพวกมองโกล-ตาตาร์ที่ยังกระจัดกระจายอยู่ในลุ่มแม่น้ำโวลก้า(Volga) อย่างไม่ปรานี เพื่อยึดครองอาสตราคานด์(Astrakhand) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ทะเลสาบแคสเปียน (Caspian) การยึดดินแดนของข่านมองโกล-ตาตาร์ตามลุ่มแม่น้ำโวลก้าเป็นการครอบครองเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมทะเลบอลติกกับทะเลสาบแคสเปียนเข้าด้วยกัน รวมทั้ง เป็นเส้นทางสำหรับจักรวรรดิรัสเซียขยายเข้าเอเชียกลางในเวลาต่อมา การเข้ายึดดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลในไซบีเรียสามารถเริ่มต้นอย่างจริงจังได้ ในภายหลังที่อาณาจักรมองโกล-ตาตาร์ถูกโค่นลงโดยสิ้นเชิงแล้ว ดินแดนตั้งแต่สันเขาของเทือกเขายูราล(Ural)ไปทางตะวันออกจนจรดดินแดนบริเวณทะเลสาบไบคาล(Lake Baikal)ซึ่งต่อมาเรียกว่าไซบีเรียนั้น เป็นดินแดนรกร้างว่างเปล่า มีแต่พวกเร่ร่อนคอซแซคส์(Cossack) เท่านั้นที่สามารถทำหน้าที่ทัพหน้าฝ่าความทุระกันดารเข้ามาบุกเบิกได้ มา รัสเซียส่งนักสำรวจพร้อมทหาร Cossacks บุกไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลโดยใช้เส้นทางแม่น้ำและตั้งสถานีของตนขึ้นในบริเวณพื้นที่อุดมสมบูรณ์ตามลุ่มแม่น้ำสายสำคัญของไซบีเรียและพัฒนาเป็นเมืองสำคัญในช่วงเวลาต่อมา เช่น เมืองทอมสค์ Tomsk บนฝั่งแม่น้ำอ๊อบ (Ob) เมืองคราสโนยาร์สค์(Krasnoyarsk) บนฝั่งแม่น้ำแม่น้ำเยนิเซ (Yenisei) และเมืองยาคุตสค์ (Yakutsk) บนฝั่งแม่น้ำแม่น้ำเลียนา (Lena) เป็นต้น การเข้ายึดพื้นที่ซึ่งต่อมาได้สถาปนาเป็นเมืองยาคุตสค์ ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซียในเส้นทางล่าอาณานิคมไปยังเอเชียและตะวันออกไกลเพื่อแสวงหาดินแดนที่ทำกินสำหรับไพร่ติดที่ดินในรัสเซียเขตยุโรป ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่เงินที่กำลังขาดแคลนในรัสเซียและการหาทางออกทางทะเล เยฟเกนี คาบารอฟ (Evgeny Khabarov) คือผู้บุกเบิก (pioneer) ที่นำกำลังไพร่พลจากสถานีที่ยาคุตสค์ เข้ามาสร้างสถานีใหม่บนแม่น้ำอามูร์ (Amur) ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งแร่เงินที่สำคัญในช่วงกลางของศตวรรษที่ 17 ซึ่งทำให้รัสเซียต้องเริ่มต้นทำสงครามกับจีนเพื่อช่วงชิงและขยายดินแดนในบริเวณลุ่มแม่น้ำอามูร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของจักรวรรดิรัสเซีย โดยเฉพาะ ผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ การหาทางออกทะเลทางมหาสมุทรแปซิฟิก การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และความจำเป็นที่รัสเซียต้องมีอู่ต่อเรือบนฝั่งแม่น้ำอามูร์ซึ่งกลายเป็นเมืองคาบารอฟสค์ (Khabarovsk) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา


          รัสเซียสามารถยึดครองดินแดนไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลที่ละส่วนจนรัสเซียมีอาณาจักรจรดมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1850 เป็นต้นมา ในเวลาเดียวกับที่พระเจ้าอิวานขยายอาณาจักรรัสเซียไปตะวันออกนั้น จีนในสมัยราชวงศ์แมนจูได้เริ่มต้นขยายอาณาจักรของตนแผ่คลุมเอเชียในทุกทิศทุกทาง อาณาจักรแมนจูบุกเข้ายึดครองอำนาจรัฐของชาวเติร์กในอาณาจักรเตอร์กิสถานตะวันออกผนวกเข้ามาในดินแดนที่เป็นแคว้นซินเกียงในปัจจุบันและขึ้นเหนือเพื่อรวบแมนจูเรียและมองโกเลียเข้าในอาณาจักร และดังนั้น รัสเซียและจีนผู้เคยถูกรุกรานในอดีตจึงเปลี่ยนมาเป็นผู้รุกราน ส่วนมองโกเลียผู้รุกรานกลับกลายเป็นผู้ถูกรุกราน


          พร้อมไปกับการรุกไปตะวันออกเข้าไซบีเรีย จักรวรรดิ์รัสเซียบุกลงไต้เข้าเอเชียกลาง รัสเซียมองการรุกเข้าไซบีเรียและตะวันออกไกลของตนเป็นการแสวงหาดินแดนใหม่ ในขณะที่การรุกเข้าเอเชียกลางนั้นคือนโยบายการแสวงหาเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมในลักษณะเดียวกับที่อังกฤษบุกเข้าอินเดียและฝรั่งเศสบุกเข้าจีนและอินโดจีน การบุกเข้าเอเชียกลางไม่เพียงแต่เพื่อการแสวงหาวัตถุดิบ โดยเฉพาะ ฝ้าย จากเอเชียกลางเท่านั้น หากยังเป็นการสร้างดินแดนกันชนสกัดกั้นการบุกขึ้นเหนือของอังกฤษจากอินเดียด้วย รัสเซียส่งคอซแซคส์เข้ามาจับจองดินแดน ทำไร่เลี้ยงสัตว์และขณะเดียวกันก็เป็นสถานีทางทหารเพื่อป้องปรามความพยายามของอังกฤษที่จะรุกเข้ามา ราวปีค.ศ. 1848 ในเวลาเดียวกันกับที่กองทัพของอังกฤษรุกเข้าสู่ตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ รวบดินแดนทั้งหมดทางภาคตะวันตกตั้งแต่เท็กซัสจนไปจรดมหาสมุทรแปซิฟิกที่แคลิฟอร์เนียนั้น กองทัพคอซแซคส์พร้อมกับนายทหารและกองทัพของรัสเซียจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็รุกเข้าเอเชียกลางจากทุ่งหญ้าสเตปป์ของพวกเร่ร่อนในคาซัคสถานจนไปจรดทะเลสาบแคสเปียน กองทัพของชาวอังกฤษทำสงครามแย่งดินแดนกับชาวพื้นเมืองอินเดียแดงอย่างโหดเหี้ยมอย่างไร กองทัพรัสเซียก็ทำสงครามรุกรานกับกองทัพของข่านแห่งบุคาราและคีวาอย่างโหดเหี้ยมอย่างไรอย่างนั้น การรบที่ Teke-Turkmen ซึ่งทั้งผู้รุกรานและผู้ต่อต้านต้องหลั่งเลือดโชลมดินมากที่สุดในปีค.ศ. 1879 นำไปสู่การเข้ายึด Geok-Tepe ที่มั่นตะวันตกสุดของดินแดนเอเชียกลางและเปิดทางให้จักรวรรดิรัสเซียขยายลงใต้จนไกลสุดถึงนคร Merv ในปีค.ศ. 1884 และโอเอซิสปันเดทางบริเวณชายแดนของอัฟกานิสถานและถือเป็นจุดใต้สุดของจักรวรรดิรัสเซีย บรรดาเหล่านายทหารของรัสเซียเมื่อคะนองอยู่กับการรุกอย่างไม่รู้วันรู้เดือนนั้น จะรู้บ้างใหมว่า ครั้นเมื่อหันกลับไปมองกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กบ้านที่พวกตนจากมา พวกเขากำลังยืนอยู่บนจุดไกลสุดของอาณานิคมเอเชียกลางของตนที่มีพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศสหรัฐอเมริกา


          การรุกเข้านครเมิร์ฟของรัสเซียคือสัญญาณเตือนจักรวรรดิอังกฤษว่ารัสเซียพร้อมที่จะบุกเข้าอินเดียเพราะเมิร์ฟคือทางแยกที่จะเข้าสู่เฮราต(Herat) ซึ่งเป็นประตูเข้าอัฟกานิสถานและทอดยาวไปสู่เปชาวาร์(Peshawar) ซึ่งก็คือปากประตูอินเดียของอังกฤษ รัสเซียเข้าสู่สงครามเย็นกับสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกในลักษณะอย่างไร รัสเซียก็ทำสงครามเย็นกับอังกฤษในสมัยที่เรียกว่า “the Great Game” อย่างไรอย่างนั้น ความแตกต่างอยู่ที่แต่ละฝ่ายยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้คอยข่มขู่คู่ต่อสู้เท่านั้น Great Game จบลงด้วยการลงนามความตกลงเขตแดนระหว่างอังกฤษกับรัสเซียปีค.ศ. 1895 (Anglo-Russian Boundary Agreement) ซึ่งอังกฤษยินยอมให้ดินแดนบริเวณเทือกเขาปามีร์(Pamir) ตกเป็นของรัสเซียทั้งหมดพร้อมกับการตั้งเขตกันชนระหว่างกันขึ้นที่วาคาน(Wakhan Corridor)ในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้เพื่อที่อังกฤษจะสบายใจว่ารัสเซียจะไม่เขยิบเข้าไปตามเส้นทางของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่มีจุดหมายปลายทางที่อินเดียมากไปกว่านี้


พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

          ลัทธิจักรวรรดินิยมคือการแสวงหาดินแดนและเมืองขึ้น ทรัพยากรและทาส แต่มีเบื้องหลังอยู่ที่เหตุผลทางเศรษฐกิจเสมอ ความต้องการเข้าครอบครองเอเชียกลางของจักรวรรดิรัสเซียอาจไม่เริ่มต้นเร็วกว่านี้ หากในสหรัฐอเมริกา ไม่เกิดสงครามกลางเมือง(US Civil War)ในปีค.ศ. 1861 เสียก่อน ผลของการปะทุของสงครามคือชาวไร่อเมริกันฝ่ายใต้ ต้องวุ่นวายกับการทำสงครามประหัตประหารกับนักอุตสาหกรรมฝ่ายเหนือจนไม่สามารถส่งฝ้ายเข้ายุโรปได้ รัสเซียเป็นประเทศที่พึ่งฝ้ายจากอเมริกามากกว่าที่อังกฤษพึ่งอินเดียเสียอีก อุตสาหกรรมผลิตผ้าในรัสเซียอาจล้มละลายได้ หากรัสเซียไม่ผลิตฝ้ายได้เอง และดินแดนที่มีดินอุดมสมบูรณ์และภูมิอากาศร้อนพอที่จะปลูกฝ้ายได้เหมือนอย่างหลุยเซียน่าหรือจอร์เจียคือเอเชียกลางเท่านั้น รัฐบาลรัสเซียจึงส่งไพร่ไร้ที่ดินที่มีอย่างดื่นดาษในรัสเซียให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและรกรากในเอเชียกลางเพื่อปลูกฝ้ายเป็นอันดับแรก และเมื่อรัสเซียค้นพบว่าเอเชียกลางมีค่ามากกว่าปลูกฝ้าย เพราะมีประชากรมากพอที่จะทำให้เป็นตลาดสำรองของสินค้ารัสเซียได้ พวกนักอุตสาหรรมที่กำลังล้มละลายในรัสเซียเพราะสินค้าของตนเข้าตลาดยุโรปไม่ได้นั้น จึงเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในเอเชียกลาง พวกเขานำวิถีชีวิตแบบชาวยุโรปมาใช้ในเอเชีย แรกสุดคือผังเมือง ถนนและบ้าน โรงละครและสถานบันเทิงเริงรมย์ซึ่งเป็นความเจริญทางวัตถุที่เข้ามาท้าทายปรัชญาและวิถีชีวิตของคนเอเชียกลาง ชาวเผ่าเร่ร่อนที่มีชีวิตอยู่กับม้า ได้เห็นม้าเหล็กเป็นครั้งแรกพร้อมกับเส้นทางรถไฟสายทรานส์แคสเปียน (Trans-Caspian Railway) ซึ่งเข้ามาถึงซามาร์คานด์ของติมูร์ในปีค.ศ. 1888 และทาชเคนท์ในปีค.ศ. 1905 แม้ชาวรัสเซียกำลังจะรุกรานทางวัฒนธรรมด้วยการนำวิถีชีวิตแบบตะวันตกเข้ามาแต่เอเชียกลางก็กว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าที่คนพื้นเมืองจะรู้สึกถึงวิถีชีวิตของตนกำลังถูกทำลายได้ และชาวรัสเซียก็ฉลาดพอที่จะไม่สร้างบ้านของตนในที่ที่ชนพื้นเมืองปลูกกระโจม และยินยอมให้มูลเลาะห์ทำกิจกรรมของตนในสุเหร่าและมัสยิดได้ต่อไปโดยไม่เข้าไปแตะต้อง


Trans-Caspian Railway

          แต่ลัทธิล่าอาณานิคมมาพร้อมกับอุดมการณ์รัฐ-ชาติ ไม่ว่านักล่าอาณานิคมจะสำนึกหรือไม่ก็ตาม นักล่าอาณานิคมไม่ว่า จะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือพวกดัชต์ และรัสเซียก็ไม่เว้นต้องสร้างชนชั้นปัญญาชนจากชาวพื้นเมืองขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างพวกเขากับคนพื้นเมือง และเป็นผู้นำภาษารัสเซีย วัฒนธรรมสลาฟของคนรัสเซีย วิถีการผลิตแบบตะวันตก และวิธีคิดแบบชาวตะวันตกไปเผยแพร่ ซึ่งในที่สุด นำไปสู่ความคิดและความใฝ่ฝันในเรื่องการรวมเผ่าพันธุ์ที่กระจัดกระจายบนกองฝุ่นและความยากจนให้ขึ้นมาเป็นชาติในแบบที่ชาวสลาฟรัสเซียมี ปัญญาชนชาวคาซัคอย่าง Shoqan Ualikhanov คือวีรชนของขาวคาซัคที่ลุกขึ้นมาปลุกจิตสำนึกชาวคาซัคในเรื่องนี้ พร้อมๆกับปัญญาชน Jadidist ของอุซเบ็กที่ก่อกระแสชาติเติร์กขึ้นมาในอุซเบกิสถาน


          การลุกขึ้นต่อต้านจักรวรรดินิยมรัสเซียปะทุขึ้นแรกที่เมืองแอนดิจาน ในอุซเบกิสถานในปีค.ศ. 1897 ซึ่งจบลงในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากการต่อต้านยังไม่เป็นขบวนและเฉพาะจุด จวบจนเมื่อรัสเซียประกาศสงครามกับเยอรมนีและเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการ รัฐบาลรัสเซียกวาดต้อนวัวและม้าจากเอเชียกลางเป็นเสบียงอาหารสำหรับกองทัพ กวาดต้อนชาวนาทั่วประเทศและชาวพื้นเมืองในเอเชียกลาง โดยเฉพาะ ชาวคาซัคและชาวคีร์กิ๊ซเป็นไพร่พลหลักในสนามรบในยุโรป ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การลุกขึ้นต่อต้านรัสเซียของชนพื้นเมืองเอเชียกลางทั่วทั้งภูมิภาค ผลของการลุกขึ้นต่อต้านนำไปสู่การสังหารชนพื้นเมือง
ชาวคาซัคและชาวคีร์กิ๊ซแบบยกหมู่บ้าน

สงครามโลกครั้งที่ 1

          การปฏิวัติประชาธิปไตยในรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 1917 เพื่อล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันซึ่งนำรัฐบาลกรรมกรและชาวนาขึ้นมาปกครองจักรวรรดิรัสเซียต่อจากพระเจ้าซาร์นั้น มิใด้เปลี่ยนทัศนคติและนโยบายของชาวยุโรปที่มีต่อเอเชียกลางแต่อย่างใด เอเชียกลางเปลี่ยนการปกครองจากระบอบอิมิเรตของข่าน เป็นระบบสาธารณรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาตามลักษณะทางเชื้อชาติ แต่มิใช่รัฐที่เป็นเอกราช หากเป็นสาธารณรัฐที่อยู่ภายใต้ระบบสหพันธ์ของรัสเซียซึ่งเรียกกันว่าระบบโซเวียต และอยู่ใน periphery ที่มีศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ที่มอสโก มีการจัดตั้งสาธารณรัฐของชาวคาซัค ของชาวคีร์กิ๊ซ ของชาวเติร์กเมน ของชาวอุซเบ็ก และของชาวทาจิกขึ้น ในช่วงปีค.ศ. 1920-1924 เอเชียกลางมิใช่อาณานิคมของจักรวรรดิรัสเซียเช่นในอดีต แต่พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเอเชียกลางยุคใหม่เคลื่อนตัวพร้อมไปกับพัฒนาการทางการเมืองของรัสเซียอย่างเป็นระบบเดียวกัน สาธารณรัฐในเอเชียกลางทั้ง 5 เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการแบ่งงานกันทำทางเศรษฐกิจผ่านการแปรสภาพทางเกษตรกรรมให้เป็นนารัฐและนารวมแบบคอมมูน ที่เรียกกันว่า Collectivisation ในปีค.ศ. 1927 และผ่านการแปรสภาพการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมที่เรียกกันว่า Industrialization ในปีค.ศ. 1932-1936 ตามนโยบายของนาย Joseph Stalin ผู้นำรัฐสังคมนิยมโซเวียตเพื่อทำให้จักรวรรดิรัสเซียทั้งระบบเป็นสังคมนิยมประเทศแรกในปีค.ศ. 1936 และเตรียมความพร้อมของสหภาพโซเวียตในการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1939-1945 ซึ่งรัฐในเอเชียกลางต้องถูกดึงเข้าสู่ศูนย์กลาง มีบทบาทเป็นแนวหลังในการรับใช้และสนับสนุนนโยบายการสร้างสังคมนิยมและการเข้าสู่สงครามของรัสเซียข้างต้น


Collectivisation

          แม้คนพื้นเมืองในเอเชียกลางจะทนทุกข์ทรมานกับการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ของพวกเขาภายใต้ระบบสังคมนิยมโซวียต แต่วิถีชีวิตในแบบพวกเร่ร่อนของพวกเขาที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกมานานนับศตวรรษซึ่งสั่งสมอยู่กับวิถีการผลิตที่ล้าหลัง กำลังถูกเปลี่ยนไปในสภาพที่ดีขึ้นในแบบมาตรฐานของชาวตะวันตก มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างขนานใหญ่และเป็นระบบในทุกรัฐของเอเชียกลาง การแบ่งงานระหว่างประเทศตามทรัพยากรที่แต่ละสาธารณรัฐมีและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ที่ตามมา โรงงานอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ มาพร้อมกับการสร้างชนชั้นปัญญาชน วิศวกร แพทย์และนักวิชาการของคนพื้นเมืองขึ้น แม้ในทาจิกิสถานซึ่งยังมีซากเดนของวิถีชีวิตในยุคกลางหลงเหลืออยู่มากก็ตาม ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ทำให้คนในสาธารณรัฐเอเชียกลางอ่านออกเขียนได้ในจำนวนที่มากกว่าคนในอัฟกานิสถานซึ่งมีบรรพบุรุษเดียวกันเสียอีก มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากกว่าที่ปากีสถานและอิหร่านมี ที่สำคัญ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในเรื่องปรัชญาสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในเอเชียกลาง โดยเฉพาะ บทบาทของชาวพื้นเมืองในการเมืองการปกครอง ความเสมอภาคทางเพศและสิทธิของสตรีในภาคการผลิตและในทางสังคม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น